วันพุธที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

เลี้ยงกุ้งก้ามแดงโดยไม่ใช้อ๊อกซิเจน ได้หรือไม่ (นักเลี้ยงมือใหม่)

เลี้ยงกุ้งก้ามแดงโดยไม่ใช้อ๊อกซิเจน ได้หรือไม่ (นักเลี้ยงมือใหม่)


  ถ้าเอ่ยชื่อ  "คุณหมอโฮจุน เครซี่ฟิช ชุมพร" ในวงการเลี้ยงกุ้ง คงพอจะได้ยินชื่อเสียงกันมาบ้าง เพราะจะมีเลี้ยงราวเทคนิคการเลี้ยงกุ้งมาฝากอยู่บ่อย และครั้งนี้ จะได้มาบอกเล่า เรื่องราว การเลี้ยงกุ้งก้ามแดงในรูปแบบต่างๆ ทั้งข้อดี และข้อเสีย สำหรับนักเลี้ยงมือใหม่ ...... จาก คำถามที่เจอบ่อย “เลี้ยงกุ้งก้ามแดง โดยไม่ใช้อ๊อกซิเจนได้หรือไม่”
     
       คำตอบ คือ "เลี้ยงได้และมีหลายวิธีตามสะดวก"
       เหตุผล คือ กุ้งก้ามแดงนั้นอาศัยอยู่ได้ในน้ำที่มีอ๊อกซิเจนต่ำได้ นอกจากนั้น กุ้งก้ามแดง ยังมีวิญญาณSpider Man เป็นสัตว์ที่ชอบปีนป่าย อะไรก็ตามที่อยู่ในบ่อขึ้นมารับอ๊อกซิเจนบริสุทธิ์จากอากาศได้โดยตรง โดยหลักการเลี้ยงแบบไม่ใช้ออกซิเจน มีลักษณะการเลี้ยงหลายรูปแบบ สามารถนำไปปรับใช้กับพื้นที่ที่เรามี เอาแบบที่ง่ายและสะดวกที่สุด ตามนี้
     
       1.เลี้ยงใน ตู้ปลา, อ่าง, กาละมัง ,กระบะพลาสติก
       การเลี้ยงแบบนี้จำเป็นต้องมีกิ่งไม้หรือก้อนหินให้กุ้งปีนได้ แต่ก็ต้องระวังเรื่องกุ้งปีนหนีออกให้ดี ภาชนะต้องปากกว้างให้มีลมพัดผ่านผิวน้ำได้จะดีมาก ไม่ควรใช้โหลปากแคบ
     
       ข้อดี - เหมาะสำหรับคนมีพื้นที่น้อย สะดวกต่อการเคลื่อนย้าย หาวัสดุเหลือใช้ในบ้านเลี้ยงได้ ต้นทุนต่ำ
     
       ข้อเสีย - สำคัญที่สุดคือดูแลเรื่องน้ำให้ดี อย่าให้น้ำเน่า ไม่เหมาะกับช่วงอากาศหนาว อุณหภูมิ เปลี่ยนแปลงบ่อยในรอบวัน โตช้า ไม่มีสารอาหารในน้ำโดยธรรมชาติ หากเปลี่ยนน้ำบ่อยเกินไปกุ้งจะตายเพราะลอกคราบไม่ผ่าน เนื่องจากสะสมแร่ธาตุไม่ทัน ทางที่ดีควรมีภาชนะรองน้ำเลี้ยงเก่าเอาไปตากแดด 1สัปดาห์สามารถรีไซเคิลมาเลี้ยงใหม่ได้ จะมีแพลงตอนเล็กๆเกิดด้วย เลี้ยงได้จำนวนน้อย
     
       2.เลี้ยงในบ่อปูน บ่อผ้ายาง
       ควรเลี้ยงแบบโดนแสงแดด จำลองธรรมชาติ ควรใส่ดินปลูกบัวลงไป หรือหากมีดินเหนียวมั่นใจว่าปลอดสารพิษแถวบ้านก็ใช้ได้ ระวังยาฆ่าปูในนาข้าว ในบ่อใส่สาหร่ายไว้ สแลน หรือตาข่าย ไว้ให้กุ้งปีน
     
       ข้อดี - ง่ายต่อการสังเกตการเจริญเติบโต การลอกคราบ หากต้องการให้น้ำใสโดยไม่ใส่ดิน สามารถใช้มูลไส้เดือนกับเศษฟาง หรือหญ้าแห้งแทนได้ ช่วยให้เกิดแพลงตอนในน้ำ ง่ายต่อการจับขึ้น จำลองรูปแบบนาข้าว หรือใส่ต้นกก ผักบุ้ง ไม้น้ำต่างๆ จอกแหนมีได้นิดหน่อยแต่อย่าปิดผิวน้ำหมด กุ้งจะอยู่รอดปลอดภัยไม่ต่างอะไรกับใส่อ๊อก หากไม่ต้องการเปลี่ยนน้ำบ่อย สามารถใส่จุลินทรีย์ไปช่วยกินแอมโมเนีย ของเสียตามพื้นบ่อได้
     
       ข้อเสีย - บ่อผ้ายางถ้าบางไปหรือมีรอยย่นอาจขาดได้ง่าย จากุ้งแทะ ควรหาวิธีแก้เมื่อฝนตกน้ำล้น ไม่ควรให้ระดับน้ำเกิน20cm ใช้ตาข่ายไนล่อนกั้นไว้ก็ได้



  3.เลี้ยงในบ่อดินหรือนาข้าว กุ้งสามารถปีนขอบบ่อหรือต้นข้าวมารับอ๊อกซิเจนได้ง่าย
     
       ข้อดี - กุ้งได้รับสารอาหารและแร่ธาตุครบถ้วนทำให้โตไว เลี้ยงได้จำนวนที่มาก เราไม่ให้อาหารมันก็อยู่ได้กุ้งรับแสงแดด จะได้วิตามินD เพิ่มประสิทธิภาพของแคลเซี่ยมที่ได้รับ
     
       ข้อเสีย - ต้องกำจัดปลาอันเป็นศัตรูกุ้งให้หมดซึ่งอาจจะเป็นเรื่องที่ยากลำบากนอกจากนั้นต้องกั้นขอบบ่อด้วยตาข่ายไนล่อนไว้กันกุ้งหนีและกันปลาหมอ ปลาไหล ปลาช่อน จากแหล่งน้ำใกล้เคียงอพยพลงบ่อเรา
       อีกหนึ่งศัตรูคือนก พื้นที่เล็กๆหรือบ่อน้ำลึกไม่ค่อยมีปัญหาหากแถวนั้นไม่มีพวกนกกาน้ำ ส่วนมากจะมีผลกับทุ่งนาเพราะน้ำตื้น เจ้านกกระยางชอบอยู่แล้ว ควรหาตาข่ายกันนกคลุมไปเลย หากคิดจะเลี้ยงเยอะต้องลงทุนส่วนนี้ ศัตรูกุ้งที่น่ากลัวสุดคือคนนี่แหละครับ โดนลักไปหลายเจ้าละ ยิ่งบ่อขนาดใหญ่หรือทุ่งนา ต้องสูบน้ำออกหมดเพื่อจับ ใช้แรงงานมาก
     
       สำหรับ บ่อที่ให้อาหารมากเกินไป พื้นบ่อจะเป็นเลนเน่าเสีย (โดยเฉพาะบ่อที่ผ่านการเลี้ยงจับกุ้งขึ้นมาแล้วหลายcorp)อาจจะมีปัญหาปรสิตและโปรโตซัว(ทำให้กุ้งหางเป็นแผลติดเชื้อ หางเลยพอง)ตามมา หากชอบแนวนี้ควรศึกษาเรื่องการจัดการบ่อดิน
     
       4.เลี้ยงในกระชัง เป็นอีกหนึ่งวิธีที่ได้รับความนิยมทำกัน โดยต้องมีแหล่งน้ำที่ลึก หรือแหล่งน้ำขนาดใหญ่
     
       ข้อดี - แยกไซส์เลี้ยงขุนไซส์ได้ง่าย น้ำถ่ายเทตลอด มีแร่ธาตุจากน้ำธรรมชาติ สะดวกในการจัดการในบ่อใหญ่ๆ เมื่อตอนจับขึ้นแค่ยกกระชังไม่ต้องเปลี่ยนน้ำ
     
       ข้อเสีย - ปลาคือศัตรูตัวฉกาจ ควรหาวิธีป้องกันปลาช่อนหรือชะโดกัดกระชังหรือกระโดดเข้า
       ควรหาวิธีป้องกันกระชังขาด มั่นใจว่าแหล่งน้ำค่าphพอเหมาะไม่มีสารพิษจากโรงงานหรือยาฆ่าหญ้า ฆ่าแมลง
     
       สุดท้ายแล้วอยากจะบอกว่าในการเลี้ยงพื้นที่เล็กการมีเครื่องให้อ๊อกซิเจน ย่อมดีกว่า สามารถเลี้ยงกุ้งได้ในปริมาณที่หนาแน่นกว่า โตไว ลอกคราบผ่านง่าย นี่เป็นความคิดเห็นส่วนตัวอาจจะมีถูกบ้างผิดบ้าง ทุกอย่างจะต้องเป็นการเรียนรู้จากประสบการณ์ เท่านั้น เพราะการได้ลงมือเลี้ยงจะได้เจออะไรใหม่ บางอย่างที่คิดว่าดีที่สุด อาจจะไม่ดีที่สุด
     
       ติดตามเรื่่องราวเลี้ยงกุ้งได้ที่ : www.facebook.com/ คุณหมอโฮจุน เครซี่ฟิช ชุมพร

วันอาทิตย์ที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2559

ชาวประมง โชคดีจับ "ล็อบสเตอร์สีฟ้า" ที่หายากได้ แต่เขากลับตัดสินใจไม่ขาย !

ชาวประมง โชคดีจับ "ล็อบสเตอร์สีฟ้า" ที่หายากได้ แต่เขากลับตัดสินใจไม่ขาย !


สำนักข่าวต่างประเทศได้รายงานว่าชาวประมง รายหนึ่งได้โพสต์ภาพผ่าน Facebook ว่าเจ้าล็อบสเตอร์น้ำหนักเกือบ 1 กิโลกรัมตัวนี้ ถูกพบโดยสามีของเธอโดยบังเอิญ ต่อมาพวกเขาได้ให้ชื่อมันว่า บลู (Bleu)
พร้อมประกาศลั่น ว่า เจ้า(บลู) ตัวนี้นั้น จะไม่ไปลงหม้อใครอย่างแน่นอน เพราะ ตนเองนั้นจะนำไป มอบให้กับศูนย์ดูแลสัตว์น้ำโดยไม่คิดเงินแต่อย่างใด
เพราะพวกเขานั้น เห็นความสวยงามของ เจ้า (บลู) อย่างแท้จริงมันสวยงามกว่า ที่จะกลายไปเป็นอาหารของใคร และพวกเขา ก็ยังเชื่ออีกว่า การที่พวกเขานั้นได้ตัดสินใจมอบให้ศูนย์ดูแลนั้นจะทำให้มันมีโอกาสรอดมากกว่าที่จะกลับไปอยู่ในท้องทะเล จากมนุษย์ และจากสัตว์นักล่าอื่น ๆ ด้วยเช่นกัน



เจ้าหน้าที่ดูแลสัตว์น้ำของศูนย์เองก็ยังประหลาดใจมาก เพราะโอกาสที่จะพบเห็นล็อบสเตอร์สีฟ้า มีเพียงราว 1 ใน 2 ล้านเท่านั้นเอง ไม่ใช่แค่เพราะโอกาสเกิดขึ้นจะน้อยแล้ว จากความผิดปกติของยีนนั้นยังหายากอีกด้วย สีที่โดดเด่นยังทำให้มันตกเป็นเหยื่อได้ง่าย การที่มันรอดมาได้จนมีตัวโตขนาดนี้นับว่าเป็นเรื่องที่หายากมาก ๆ ทั้งนี้ เจนเล่าต่อว่า นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่สามีเธอเจอล็อบสเตอร์สีฟ้านี้ แต่เมื่อปี 1990 เขาเคยเจอมันมาแล้วครั้งหนึ่ง ไม่แน่อาจจะเป็นลูกหลานของมัน หรืออาจจะเป็นตัวเดินก็เป็นได้



วันศุกร์ที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2559

สูตรทำหนอนน้ำหมักชีวภาพ อาหารกุ้งก้ามแดง


สูตรทำหนอนน้ำหมักชีวภาพ อาหารกุ้งก้ามแดง

 หนอนน้ำหมักชีวภาพ คือหนอนแมลงวันที่เกิดจากน้ำหมักพืช ผัก ผลไม้สุกในกระบวนการหมักแบบชีวภาพ พบได้กับการหมักน้ำหมักชีวภาพเพื่อใช้เป็นฮอร์โมนในการฉีดพ่นบำรุงพืชผักทั่วไป ลักษณะตัวหนอนจะมีสีขาว ลำตัวกว้างประมาณ 0.5 ซม. บนลำตัวมีขนใสเล็กๆไม่มากนัก ยาวประมาณ 1-2 ซม. วิธีการหมักน้ำหมักชีวภาพเพื่อให้ได้หนอนจำนวนมากๆเพื่อให้เพียงพอต่อการเลี้ยงไก่พื้นเมือง กบ หรือ ปลาดุก,กุ้งก้ามแดง ให้เกษตรกรเตรียมส่วนผสมและวิธีการทำ ดังนี้

วัสดุ-อุปกรณ์ 

- ผลไม้สุก เช่น กล้วยน้ำหว้า มะละกอ ขนุนสุกรวมๆกันหรือเท่าที่หาได้ 2 อย่างขึ้นไป 6 กิโลกรัม
- น้ำตาลทรายแดง 2 กิโลกรัม
- น้ำเปล่า 20 ลิตร
- ถังหมักขนาด 30 ลิตรมีฝาปิด

วิธีการทำ

- หั่นผลไม้สุกทั้งเปลือกเป็นชิ้นเล็กๆคนคลุกเคล้ากับน้ำตาลทรายแดงในถัง เติมน้ำเปล่าลงไป 20 ลิตรคนให้เข้ากันอีกรอบ ไม่ต้องปิดฝา ตั้งถังทิ้งไว้ใต้ต้นไม้หรือในที่ร่มอากาศถ่ายเทได้สะดวก 3 วัน
- หลังจากครบ 3 วันให้ปิดฝาให้สนิททิ้งไว้ 7 วัน
- หลังจากครบ 7 วันจะเริ่มมีตัวหนอนขึ้นแต่ตัวหนอนยังไม่โตเต็มที่ ให้ปิดฝาแบบหลวมๆ แง้มฝาถังนิดหน่อยให้อากาศสามารถเข้าได้ ทิ้งไว้อีก 7 วัน
- หลังจากครบอีก 7 วัน จะได้ตัวหนอนน้ำหมักตัวอ้วนๆขาวๆ สามารถนำไปเลี้ยงไก่พื้นเมือง เลี้ยงเป็ด เลี้ยงกบ เลี้ยงปลาดุกได้ ตัวหนอนจะเพิ่มปริมาณขึ้นๆทุก 2-3 วัน เกษตรกรควรเลี้ยงหนอนน้ำหมักชีวภาพไว้อย่างน้อย 2 ถังเพื่อสลับถังกันเก็บตัวหนอน ซึ่งจากปริมาณวัตถุดิบที่ใช้หมักดังกล่าวถ้าหมัก 2 ถังจะได้ตัวหนอนทุกๆวันประมาณวันละ 1-2 กิโลกรัม

ข้อแนะนำ 

     หนอนน้ำหมักจะเกิดขึ้นเองเรื่อยๆและอยู่ได้นานถึง 6 เดือน และเมื่อครบ 6 เดือนให้เติมเพิ่มผลไม้สุกลงไปในถัง 1 กิโลกรัม น้ำตาลทรายแดง 1 กิโลกรัมและน้ำเปล่าอีกประมาณ 5 ลิตร คนให้เข้ากันปิดฝาถังหลวมๆทิ้งไว้จะช่วยยืดอายุการผลิตตัวหนอนได้นานอีก 6 เดือน

วิธีการนำตัวหนอนน้ำหมักชีวภาพไปใช้

- หากนำไปเลี้ยงกุ้งก้ามแดง ควรระวังเรื่องน้ำ เพราะการให้อาหารสด น้ำจะเสียเร็วมากกว่าอาหารปกติ
- หากเกษตรกรต้องการนำไปเลี้ยงไก่พื้นเมืองหรือเลี้ยงเป็ด ให้นำตัวหนอนสดๆ 1 ส่วน ผสมกับรำอ่อน 1 ส่วน สามารถนำไปเลี้ยงเป็นอาหารมื้อหลักได้เลย
- หากเกษตรกรต้องการนำไปเลี้ยงปลาดุก สามารถนำไปเลี้ยงแบบสดๆโดยไม่ต้องผสมอะไร ให้นำไปหว่านในบ่อเลี้ยงปลาดุกทุกๆเช้า-เย็นได้เลย แต่สามารถเลี้ยงได้เฉพาะปลาดุกที่มีอายุตั้งแต่ 1 เดือนขึ้นไป
- หากเกษตรกรต้องการนำไปเลี้ยงกบ สามารถนำไปเลี้ยงแบบสดๆได้โดยไม่ต้องผสมอะไร ทุกๆเช้า-เย็น แต่สามารถเลี้ยงได้เฉพาะกบที่มีอายุตั้งแต่ 1 เดือนขึ้นไป
     ประโยชน์ของหนอนน้ำหมักชีวภาพยังมีประโยชน์ต่อการเลี้ยงสัตว์เนื่องจากหนอนชนิดนี้มีโปรตีนสูง เป็นหนอนที่เกิดจากการหมักจุลินทรีย์ ช่วยให้สัตว์ที่เลี้ยงมีภูมิคุ้มกันโรค มีระบบขับถ่ายที่ดี เจริญเติบโตเร็ว หากนำไปเลี้ยงกุ้งก้ามแดงจะโตเร็ว มีสุขภาพดีอีกด้วยนอกจากนั้นประโยชน์อีกด้านหนึ่ง คือประโยชน์โดยตรงของน้ำหมักชีวภาพดังกล่าว ซึ่งเมื่อหมักครบ 1 เดือน เกษตรกรสามารถนำน้ำหมักไปใช้เป็นฮอร์โมนสำหรับเร่งการเจริญเติบโตของพืชผักได้ ช่วยให้ผักสวนครัวสวยงามต้นอวบใช้ปรับปรุงบำรุงดินได้ โดยใช้ 4 ช้อนแกงต่อน้ำ 20 ลิตร ฉีดพ่นที่ใบและลำต้น หรือรดลงดิน 10 วันต่อครั้ง